การละลายของสารในตัวทำละลาย
สารชนิดเดียวกันละลายในตัวทำละลายต่างชนิดได้แตกต่างกัน คือ
1) สารบางชนิดอาจไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในตัวทำละลายชนิดอื่น เช่น ลูกเหม็น เชลแล็ก ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในแอลกอฮอล์
2) สารบางชนิดอาจละลายได้ในตัวทำละลายหลายชนิด เช่น สีผสมอาหารละลายในน้ำ และละลายในแอลกอฮอล์
เมื่อใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย สามารถแบ่งสารออกเป็น 2 ประเภท คือ สารที่ละลายน้ำ และสารที่ไม่ละลายน้ำ จะเห็นว่าสารต่างชนิดกันละลายน้ำได้ต่างกัน
ถ้าตัวละลายเป็นของแข็งละลายในตัวทำละลายที่เป็นของเหลว ตัวละลายจะแพร่ในตัวทำละลาย เมื่อตัวละลายละลายหมด จะมองเห็นสารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีตะกอน เนื่องจากตัวละลายที่เป็นของแข็งแทรกอยู่ในตัวทำละลาย เช่น การละลายของน้ำตาลในน้ำ การละลายของเกลือในน้ำ เป็นต้น ในกรณีที่ตัวละลายไม่ละลายในตัวทำละลาย แสดงว่าตัวละลายไม่สามารถแทรกตัวในตัวทำละลายชนิดนั้นได้ จึงมองเห็นไม่เป็นเนื้อเดียวกัน